โรครากเน่าโคนเน่า จัดเป็นโรคที่พบกันมากในสวนพืช ผัก ผลไม้ ของชาวไร่ ชาวสวน ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด พริก มะเขือ มะนาว แตงกวา ลำไย ปาล์ม ยางพารา ฯลฯ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียรายได้และผลผลิตของเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะจัดว่าเป็นโรคที่ทำให้พืชนั้นขาดสารอาหารเพราะระบบรากถูกทำลาย เน่า ถอดปลอก และอาจจะติดเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปในท่อน้ำท่ออาหารจนบางครั้งพืชบางชนิดก็ตายได้อย่างฉับพลันทันทีทั้ง ๆ ที่ความเขียวยังคงอยู่ จนชาวบ้านบางแห่งที่พบโรคนี้ต่างเรียกกันว่า ?โรคเหี่ยวเขียว? ซึ่งสาเหตุจริง ๆ อาจจะไม่เกี่ยวกับเชื้อราโรคพืชที่ก่อให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าแต่ก็ถือว่าเป็นเหตุที่ต่อเนื่องกันได้
สาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟท้อฟเธอร่า(Phytophthora) เชื้อรากลุ่มนี้ ปกติจะอาศัยอยู่ในดินอยู่แล้ว เวลาที่ต้นพืชที่ปลูกอ่อนแอหรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เชื้อราไฟท้อฟเธอร่าก็จะเข้ามาทำลายทันที สังเกตว่าหากพืชชนิดนั้น เป็นโรครากเน่าโคนเน่า จะไม่พบการระบาดทั่วทั้งแปลง แต่จะพบบางต้นเท่านั้นที่เป็นโรค และจากนั้นจึงค่อยๆลุกลามไปยังต้นข้างเคียง แสดงให้เห็นว่า เชื้อราไฟท้อฟเธอร่า จะเข้าทำลายต้นที่อ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำสุดก่อน แต่ถ้าดูแลให้พืชแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่ตลอดเวลาแล้ว อัตราการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าก็จะลดต่ำลงตามไปด้วย
วิธีแก้โคนเน่า-รากเน่า วัสดุ-อุปกรณ์ : 1. ใช้ขี้วัว จำนวน 5 กก. 2. รำละเอียด จำนวน 2 กก 3. พ.ด.3 จำนวน 1 ซอง (ติดต่อขอรับได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน) 4. น้ำเปล่า จำนวน 5 ลิตร 5. ถุงพลาสติกหรือกระสอบ 6. ปุ๋ยหมัก คุณสมบัติของสารเร่ง พด.3 ป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ได้แก่ โรครากและโคนเน่าของไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน ส้ม และยางพารา เป็นต้น โรคเน่าคอดินและลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด พืชเส้นใยและพืชตระกูลถั่ว โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก มะเขือเทศ แตง กะหล่ำปลี เบญจมาศ และมะลิ เป็นต้น ช่วยแปรสภาพแร่ธาตุในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เจริญได้ดีในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 วิธีทำจุลินทรีย์ควบคุมโรครากเน่า-โคนเน่า : ใช้ขี้วัว 5 กก.ผสมกับรำละเอียด 2 กก. ใส่ในถุงพลาสติกคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นละลาย พ.ด.3 (1 ซอง) ในน้ำ 5 ลิตร คนนาน 5 นาที แล้วนำไปผสมคลุกเคล้ากับส่วนผสมวัสดุให้ได้ความชื้น 60% รัดปากถุงไว้ ตั้งทิ้งไว้บนพื้นปูน ไม่ให้ถูกแดดและฝนนาน 7-10 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เก็บใส่ถุงมัดปากใส่ถังพลาสติกเก็บไว้ใช้ การนำหัวเชื้อไปใช้งาน : ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ 2 ขีด ต่อการขยายเชื้อในปุ๋ยหมัก 100 กก. นำไปใส่โคนต้นไม้ จะช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าของพืชได้
ที่มา www.cyto.biz (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ปุ๋ยไซโต)
Comments