top of page

ลาแล้วเมืองกรุง….มุ่งบ้านเกิด “ปลูกไผ่หวานขาย” งานสร้างสุขของหนุ่ม-สาวชาวอุดรฯ











จากหนุ่ม-สาว ชาวกรุง มุ่งหน้าสู่อีสานบ้านเกิด ทิ้งรายได้เดือนเกือบแสนบาท สร้างสวนเกษตรแห่งความสุข ปลูกไผ่หวาน ขายหน่อ ขายพันธุ์ สร้างฝันสร้างสวนป่า คืนความสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ คืนระบบนิเวศน์และโอโซนสู่พื้นโลก…นี่คือ งานแห่งความสุขของคนหนุ่มสาวยุคใหม่ “สมเจตน์ (สิงห์) และเพ็ญศิริ (โบว์) ลลิตวิภาส” เจ้าของสวนไผ่หวาน ณ บ้านทุ่ง อุดรธานี

ทิ้งเงินเดือนเฉียดแสน…เพื่อไล่ล่าความฝัน

คุณสิงห์และคุณโบว์ เล่าให้ฟังว่า สิงห์เป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ มา 14 ปี ดีกรีระดับอาจารย์สอนระบบเซิร์ฟเวอร์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เงินเดือนขั้นสุดท้าย กว่า 60,000 บาท ส่วนโบว์เรียนจบด้านบัญชี เป็นสาวอุดรธานี ทำงานในบริษัทเอกชนอยู่พักใหญ่ ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวช่วยครอบครัว ในงานศิลปะตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ระบายสี กรอบรูปและกระเป๋าผ้าลดโลกร้อน มีรายได้เหลือจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเดือนละ 30,000-40,000 บาท รวมรายได้ทั้ง 2 สามี-ภรรยา เกือบ 100,000 บาทต่อเดือน

แม้รายได้จะดีแต่ 2 สามี-ภรรยา ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้ชื่นชอบในวิถีชีวิตแบบคนกรุงมากนัก หากแต่จำเป็นต้องทำงานหาเงิน ไว้สร้างอนาคต พวกเขาวางแผนชีวิตคู่และครอบครัวตั้งแต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ว่าจะต้องมีลูก ได้เลี้ยงลูกเอง ให้การศึกษาที่เหมาะสม และมีอาชีพที่เป็นอิสระมากขึ้น อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น และที่สำคัญต้องมีความสุขกับงานที่ทำ และอากาศต้องดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือแรงบันดาลใจ…ทั้งสองเริ่มเก็บเงินจากการทำงาน แล้วตัดสินใจว่า ในอนาคตจะกลับบ้านเกิดของคุณโบว์ แม้ว่าจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ก็ช่วยกันเก็บเงิน แล้วหาซื้อที่ดิน ทีละแปลงๆละเล็กละน้อย ที่ไร่ ที่นา ที่ป่าละเมาะรกร้าง ชาวบ้านไม่ชอบจะตัดไม้ทิ้งพวกเขาก็ขอซื้อเก็บไว้ จนในที่สุดเวลาผ่านไป 10 ปี มีที่ดินรวมกัน 7 แปลง กว่า 80 ไร่


ได้แรงบันดาลใจ…ปลูกไผ่หวาน

“ตอนแรกก็ตั้งใจเก็บเงินซื้อที่เก็บไว้ก่อน อยากจะมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ยังไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลด้านการเกษตร ดูตามอินเตอร์เน็ต ดูในเฟสบุ๊ค มีเวลาก็ไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆบ้าง เมื่อประมาณปี 53 ได้เข้าไปดูเว็บเกษตรพอเพียง มีโครงการธนาคารไผ่ แจกกล้าไผ่ฟรี โดยมี น้าอ้วน เกษตรพอเพียง เป็นคนดูแลโครงการ ก็เลยขอเข้าร่วมโครงการ ขอคำปรึกษาแนะนำ ได้ต้นพันธุ์ไผ่กิมซุงมา 100 ต้นแบบให้ฟรี ตามโครงการเมื่อไผ่โตแล้วจะต้องคืนต้นพันธุ์กลับให้โครงการ 300 ต้น เราเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีน่าสนใจ และเริ่มปลูกไผ่กิมซุง ครั้งแรกเมื่อต้นปี 54 เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสวนไผ่ของสวนเราครับ” คุณสิงห์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการผันครอบครัวและตัวเองเข้าสู่อาชีพการเกษตร

คุณสิงห์เล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อเริ่มปลูกไผ่ ก็เริ่มมองหาอาชีพในอนาคตว่า อาชีพเกษตรอะไรที่ทำแล้วยั่งยืน ทำแล้วมีรายได้ทุกวัน เป็นรายวัน รายเดือนและรายปี ก็เริ่มที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น และได้เข้าอบรมเรื่องการปลูกไผ่ กับสวนไผ่นานาพันธุ์ ที่ปราจีนบุรี เห็นความหลากหลายของสายพันธุ์ไผ่ และเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างอาชีพจากไผ่ ต่อมาได้พบกับ คุณวรรณบดี รักษา หรือ “พี่เปีย” เจ้าของสวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง อ.เด่นชัย จ.แพร่ ปลูกไผ่หวานขายหน้าสวนได้ทุกวัน ไผ่ออกหน่อตลอดปี ที่สำคัญคนที่เป็นโรคเก๊า โรคปวดข้อ ก็สามารถทานได้ ไม่มีไซยาไนด์ ปลูกแค่ 8 เดือนก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ จึงตัดสินใจเลือกอาชีพปลูกไผ่ เป็นอาชีพหลักตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ปลูกไผ่หวานอย่างจริงจัง

เริ่มปลูกไผ่บงหวานครั้งแรก ปี 2556 ตอนนั้นแบ่งพื้นที่ปลูก สวนผลไม้รวม เช่น มะม่วง กล้วย และไม้ผลอื่นๆ ประมาณ 1 ไร่ สวนไผ่สาระวิน  5 ไร่ ประมาณ 500 ต้น สวนไผ่กิมซุง ประมาณ 100 ต้น และไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง ครั้งแรกลงปลูก 1,000 ต้น ปลูกทิ้งไว้ 1 ปีไม่ได้ดูแล เพราะมีภารกิจดูแลคุณแม่ที่ไม่สบาย เมื่อปี 2558 ก็มาเริ่มตรวจแปลงไผ่บงหวาน เหลือประมาณ 400 ต้น จึงเริ่มขยายใหม่ ในพื้นที่ 10 ไร่ ทำระบบน้ำรด ด้วยโซล่าเซลล์ ทำให้ไผ่โตเร็ว เพียง 8 เดือน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ ต้นปี 2559 ก็เริ่มเปิดสวน อย่างเป็นทางการ

“เราวางแผนกันไว้ว่า ปลูกไผ่ให้ได้ผลผลิตก่อน จึงจะกลับมาอยู่บ้านอย่างจริงจัง ในระหว่างที่เริ่มทำสวนไผ่ เราก็สร้างบ้านพักไว้ ปลายปี 2558 เราก็ลาออกจากงานมาทำสวนอย่างจริงจัง เพราะเรามีผลผลิตหน่อไม้ไผ่บงหวาน เก็บขายได้ ทำกิ่งพันธุ์ไผ่บงหวานไว้แบ่งขายให้ผู้ที่สนใจ แล้วเราจึงเปิดสวนอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นปี 2559 ถึงตอนนี้เราเปิดสวนได้แค่ 7 เดือน ก็พอมีรายได้จากการขายหน่อไม้ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง หน้าสวนกก.ละ 60 บาท ขายกิ่งพันธุ์ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เบอร์ 1 กิ่งละ 100 บาท เบอร์ 2 กิ่งละ 200 บาท และเบอร์ 3 กิ่งละ 300 บาท ตั้งแต่เปิดสวนมา สามารถขายหน่อไม้ และกิ่งพันธุ์ได้ทุกเดือน ผลผลิตหน่อไม้สด เฉลี่ยเดือนละประมาณ 150 กก. กิ่งพันธุ์ขายเดือนละประมาณ 500 ต้น ตอนนี้มียอดสั่งจองกิ่งพันธุ์เข้ามาเรื่อยๆ ทั้งกิ่งปักชำและขุดต้น ทำไปขายไปตามจำนวนที่มีลูกค้าสั่งเข้ามาครับ” คุณสิงห์ กล่าว


สร้างสวนป่า…ทำเป็นศูนย์เรียนรู้

นอกจากการปลูกสวนไผ่แล้ว สองสามี-ภรรยา พากันอนุรักษ์สวนป่า ซึ่งซื้อมาจากชาวบ้าน พื้นที่กว่า 20ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ อนุรักษ์ป่าไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ท่ามกลางไร่อ้อน ไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อากาศบริสุทธิ์ เพิ่มโอโชนให้พื้นที่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บหาของป่า ได้ตามฤดูกาล เช่น เห็ดป่า หน่อไม้ ไข่มดแดง ผักพื้นบ้าน ผึ้งป่า เป็นต้น

วันนี้สองสามี-ภรรยา บอกว่าลาออกจากงานมาได้ 7 เดือนกว่า มีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ครอบครัวอบอุ่นมากขึ้น มีชีวิตที่อิสระ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่อนุรักษ์ไว้ และปลูกสร้างขึ้นเอง มีรายได้จากการขายหน่อไม้บงหวาน และพันธุ์ไผ่ ตลอดปี เดือนละกว่า 6-7 หมื่นบาท หักค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เหลือเก็บเดือนละ หมื่นกว่าบาท ซึ่งเป็นรายได้จากจุดเริ่มต้นเท่านั้น ทำงานแค่ เช้ากับเย็น พวกเขาส่งลูกคนโตเข้าเรียนที่ โรงเรียนอุดรบอสโก ในตัวเมืองจังหวัดอุดรฯ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนระดับแถวหน้าของจังหวัด มีศิษย์เก่าที่เป็นคนดังระดับประเทศมากมาย ทั้งดารา พิธีกร นักข่าว และนักการเมืองมากมาย

ท้ายที่สุดพวกเขาบอกว่า มีความสุขมากขึ้น เป็นชีวิตที่ลิขิตเอง เป้าหมายต่อไปในสายอาชีพเกษตร พวกเขาตั้งใจจะขยายพื้นที่ปลูกไผ่บงหวานเพิ่มขึ้น เพิ่มกิจกรรมในสวนไผ่และสวนป่า ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ทำเป็นเส้นทางเดินป่า ศึกษาดูงานสวนป่าธรรมชาติ เน้นแนะนำความรู้การเกษตรจริง ทำได้จริง ขายได้จริงและยั่งยืนจริงๆ


หมายเหตุ : สนใจปุ๋ยอินทรีย์ไซโตบำรุงหน่อไม้ไผ่บงหวาน และกิ่งพันธุ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ www.cyto.biz

#ปุ๋ยอินทรีย์ #ปุ๋ยมูลค้างคาว #ปุ๋ยไซโต

1 Comment


irqs1234
Dec 10, 2023

The first phase, energy management system iso 50001 Planning, involves establishing an energy policy, identifying significant energy uses, and setting measurable energy objectives and targets. Organizations must conduct an initial energy review to understand their current energy consumption patterns, which includes energy sources, processes, and usage across various operations.

Like
bottom of page